ประวัติมวยไทย
Translated By : Siwadee Akkaraphot
ประวัติศาสตร์ของมวยไทยเริ่มต้นในดินแดนต้นกำเนิดของกีฬาชนิดนี้นั่นก็คือประเทศไทย มวยที่มีเวทีพัฒนามาจากศิลปะการป้องกันตัวของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศในแถบนั้นก็ได้เติบโตไปพร้อมกับหมัดเข่าศอก ลูกเตะและลูกต่อยของที่นั่นด้วย
มวยไทยในประวัติศาสตร์
ตำนานนายขนมต้มได้เป็นส่วนหนึ่งของการบุกเบิกมวยไทย ทหารแห่งสยามประเทศนายนี้และชาวบ้านคนอื่นๆ ถูกทหารพม่าจับไปเป็นตัวประกันในปีพุทธศักราช 2317 เมื่อประเทศเพื่อนบ้านนั้นได้ปล้นสะดมอยุธยา กษัตริย์พม่าต้องการทดสอบความสามารถด้านการต่อสู้ของคนในประเทศของตนจึงจัดให้มีการแข่งขันต่อสู้กับนายขนมต้ม ซึ่งนายขนมต้มได้ใช้แม่ไม้มวยไทยของเขาชนะทหารพม่าถึง 9 นาย กษัตริย์พม่าจึงปล่อยในขนมต้มและนายทหารที่มาด้วยกันให้เป็นอิสระ กีฬามวยไทยจึงเริ่มเติบโตนับแต่นั้นมา
ในพุทธศักราช 2411 ช่วงรัชกาลที่ 5 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง ที่ศิลปะการต่อสู้มวยไทยได้ถูกพัฒนาเป็นกีฬา พระมหากษัตริย์ไทยทรงจัดการแข่งขันชกมวยเป็นประจำ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นการแข่งขันมวยไทยครั้งแรกๆ เลยก็ว่าได้
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทำให้มวยไทยเป็นที่นิยมมากขึ้น ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการจัดระบบระเบียบของมวยไทยให้ดียิ่งขึ้นเช่นมีการใส่กระจับให้แก่นักมวย ค่ายมวยและยิมเป็นมาตรฐานมากขึ้น และในปีพ.ศ 2464 ก็ได้มีสนามมวยไทยแห่งแรกขึ้นมา
การก่อสร้างสนามมวย
ในปีพ.ศ 2484 เริ่มมีการก่อสร้างสนามมวยราชดำเนิน ซึ่งสนามนี้เป็นสนามที่เก่าแก่ที่สุดของกรุงเทพฯ 4 ปีต่อมาสนามมวยราชดำเนินเปิดให้ชกและเข้าชมมวยไทยในฐานะกีฬาบนเวที ห้ามมีการคาดเชือกรอบกำปั้นแต่ให้ใส่ถุงมือชกแบบตะวันตกแทน นอกจากนี้ยังมีการแบ่งรุ่นน้ำหนักและมีกฎกติกาที่ชัดเจนบนเวทีด้วย
กองทัพบกไทยสร้างสนามมวยลุมพินีในปีพ.ศ 2499 หรือราว 1 ทศวรรษหลังจากสนามมวยราชดำเนิน ทั้ง 2 สนามมวยนี้ทำให้มวยไทยเป็นที่นิยมขึ้นอย่างมากในช่วงยุค 80 และ 90 (พ.ศ 2533 ถึงพ.ศ 2542)
ยุคทอง
ช่วงที่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างมากจนล้ำหน้าหลายประเทศทั่วโลกช่วงต้นปี 2530 และต้นปี 2540 มาตรรายรับและผลผลิตของประเทศ (GNP) เพิ่มสูงขึ้นถึง 4 เท่าตัวในช่วงยุค 1970 และ 1990
เป็นสาเหตุให้คนในประเทศพากันย้ายเข้ากรุงเทพฯ และทำให้มีแฟนมวยล้นหลามในราชดำเนินและลุมพินีทุกครั้งที่มีการจัดชกมวย
ยุคทองของมวยไทยเป็นช่วงเดียวกับช่วงการเติบโตอย่างมหาศาลของเศรษฐกิจ นักกีฬาทำเงินจากการชกได้มหาศาล นักชกอย่างสามารถ พยัคฆ์อรุณ นักมวยดาวรุ่งช่วงปี 2523 ถึง 2531 สามารถทำงานต่อการชก 1 ครั้งได้สูงถึง 350,000 บาท โดยนักชกแนวหน้ารุ่นพี่อย่างอภิเดช ศิษย์หิรัญ นักชกดาวรุ่งช่วงพ.ศ 2504 ถึง 2513 สามารถทำเงินได้นัดละ 85,000 บาทเท่านั้น
นักชกท่านอื่นอย่างแสงเทียนน้อย ส. รุ่งโรจน์, คฤหาสน์ ส. สุภาวรรณ, สมรักษ์ คำสิงห์และดีเซลน้อย ช. ธนะสุกาญจน์ก็ได้รับค่าตัวที่สูงเช่นกัน สนามมวยเต็มไปด้วยเสียงกึกก้องคำราม เศรษฐกิจเติบโตดี และบัตรทั้งสนามลุมพินีและราชดำเนินต่างก็ขายหมดเกลี้ยงทุกนัด
แต่แล้วก็ถึงยุคที่เศรษฐกิจเริ่มเสื่อมถอย ประเทศไทยเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักชกช่วงปลายยุคทองอย่างจงสนั่น แฟร์เท็กซ์ยังกวาดเงินเข้ากระเป๋าได้อยู่ ส่วนวู้ดเดนแมนทำเงินได้ถึงนัดละ 120,000 บาทในช่วงขาขึ้นของอาชีพ (พ.ศ 2534 ถึง 2538)
การถดถอยของเศรษฐกิจและตัวเลือกความบันเทิงที่เพิ่มขึ้นทำให้ผู้ชมส่วนมากออกจากสนามมวยไป เหลือไว้เพียงนักพนัน การต่อสู้เริ่มเอาใจผู้ชมที่ยังอยู่ และพัฒนาชื่อเสียงในชนชั้นแรงงานมากขึ้น
แม้ขณะนั้นมวยไทยในประเทศไทยจะเริ่มอิ่มตัว แต่ในระดับโลกนั้นกำลังเป็นที่นิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว
นักชกต่างชาติยุคแรกอย่างราโมน เดคเกอร์ และจอห์น เวย์น พาร์ เป็นผู้บุกเบิกเส้นทางให้มวยไทยก้าวไกลไปสู่ระดับโลก เดคเกอร์ชกกับแชมป์สนามมวยลุมพินี นำพล หนองกี่พาหุยุทธ ที่กรุงอัมสเตอร์ดัมปี 2533 เดคเกอร์ขึ้นชื่อเรื่องสไตล์การชกที่ออกลูกไวและรุนแรง ทำให้คว้าแชมป์มวยไทยในประเทศไทยได้สำเร็จ กระชากเข็มขัดแชมป์จากโคบาล ลูกเจ้าแม่สายทองไปครอง
หลายปีต่อมาจอห์น เวย์น พาร์ ก็ได้เข้ามาชกในสยามเมืองยิ้ม โดยมีครูฝึกเป็นแสงเทียนน้อย เจ้าตำนานจากยุคทองนั่นเอง นั่นทำให้จอห์น เวย์น พาร์ ได้รับการโหวตว่าเป็นนักชกชาวต่างชาติยอดเยี่ยมแห่งปี 2540 จอห์น เวย์น พาร์ ได้ขึ้นชกถวายในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และขึ้นชกที่สนามมวยลุมพินีเหมือนกับเดคเกอร์
นักกีฬาต่างชาติทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจมากขึ้น แต่ไทยไม่ได้ส่งซูเปอร์สตาร์นักชกไทยสู่สากลจนกระทั่งยุคของบัวขาว บัญชาเมฆ (อดีต บัวขาว ป. ประมุข) แชมป์เวทีอ้อมน้อยอย่างบัวขาวได้กลายเป็นแชมป์คิกบ็อกซิ่ง K1 โดยในช่วงชกเปิดตัว บัวขาวได้เอาชนะทั้งจอห์น เวย์น พาร์, ทากายูอิ โคฮิรูอิมากิ, และนักชกขวัญใจชาวญี่ปุ่นอย่างโคบายาชิ มาซาโต้ ซึ่งในปีพ.ศ 2547 มีการจัดชกคิกบ็อกซิ่งในประเทศญี่ปุ่น ได้รับความสนใจเป็นอย่างดีจากทั่วโลก
ทำให้ประเทศไทยได้รับความสนใจด้วย ในปี 2547 เป็นปีที่เริ่มการแข่งขัน The Contender Asia series เป็นรายการเรียลิตี้ นำแสดงโดยนักกีฬามวยไทย จอห์น เวย์น พาร์, ยอดแสนไกล แฟร์เท็กซ์, บรูซ แม็กฟาย, และซาบาร์ แอสเกอรอฟ โดยมีการจัดคู่ชกทุกสัปดาห์ ในรอบสุดท้ายเป็นนัดระหว่างยอดแสนไกล แฟร์เท็กซ์และจอห์น เวย์น พาร์ ซึ่งนักชกถนัดซ้ายได้ชกเข้าเป้าจนเอาชนะคู่ชกชาวออสเตรเลียได้ ยุคนั้นเป็นยุคที่อินเทอร์เน็ตกำลังขยับขยายจนทำให้มวยไทยเริ่มพัฒนาเป็นสิ่งที่มากกว่าแค่กีฬาเพื่อการตลาดเฉพาะกลุ่ม
ในประเทศไทย นักกีฬาอย่างเพชรบุญชู เอฟเอกรุ๊ป และ แสนชัย พีเค แสนชัย เป็นตัวหลักในสนามมวย จำนวนนักชกชาวไทยที่มากขึ้นพากันได้รับโอกาสในการเฉิดฉายและเติบโตในต่างประเทศ รุ่งระวี ศศิประภา, สะเก็ดดาว เพชรพญาไท และนักชกท่านอื่นๆ ต่างเดินทางออกจากประเทศบ้านเกิดเพื่อไปชก โดยทั้งสองเคยชกที่ ลอส แองเจลิส สหรัฐอเมริกามาแล้วด้วย
นักมวยไทยที่เกษียณแล้วก็เริ่มไปตั้งรกรากกันในต่างประเทศ เช่น จงสนั่น แฟร์เท็กซ์ ทำการฝึกนักชกต่างชาติที่ต่างประเทศ โดยสร้างคอนเนคชั่นระหว่างประเทศต่างๆ กับประเทศไทยให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นักชกชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยและอยู่อาศัยในประเทศไทยได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น เลียม แฮริสสัน, เดเมียน อลามาโนส, โทบี้ สมิทธ, และ จอร์จ แมนน์ มีอาชีพการงานที่ก้าวหน้าและมั่นคงอยู่ในประเทศไทย เมื่อกลับบ้านเกิดก็ได้นำประสบการณ์และคอนเนคชั่นจากไทยกลับไปด้วย
มวยไทยเพื่อความบันเทิงในยุคโมเดิร์น
นักกีฬามวยไทยเริ่มเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ มีรายการความบันเทิงใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย กติกาถูกเปลี่ยนจาก 5 ยกเหลือ 3 ยก ทำให้นักกีฬาเริ่มต่อสู้กันอย่างดุเดือดตั้งแต่เสียงระฆังดัง
Max Muay Thai เป็นรายการแรกๆ สำหรับการชกมวยเพื่อความบันเทิงโดยจัดขึ้นสัปดาห์ละครั้งที่สนามมวยในพัทยา ประเทศไทย โดยการชกแต่ละครั้งเน้นความดุเดือดและความมันเต็มพิกัด มีการแจกโบนัสให้กับนักชกที่ชกได้ดีไม่ว่าจะชนะหรือแพ้ก็ตาม เป็นการชกสร้างความบันเทิงสไตล์ใหม่ที่มีการยกระดับแสงสีเสียงเพื่อความมันจุใจ โดยรายการแม็กซ์มวยไทยจะมีจัดการชกรายสัปดาห์ระหว่างนักชกต่างชาติและนักชกชาวไทย
รายการอื่นเช่น มวยฮาร์ดคอร์, MX, และซูเปอร์แชมป์ก็ได้บังเกิดตามมา แต่ละรายการมีการเปลี่ยนรูปแบบเพื่อให้แตกต่างจากแม็กซ์มวยไทย นักมวยจะใช้นวมเล็กสไตล์ MMA (มวยฮาร์ดคอร์, MX) และมีนักชกหญิงเข้ามาร่วมชกด้วย
ก่อนหน้านี้ มักมีการจัดโปรแกรมให้กับนักชกหญิงในรายการภูธรเวทีเล็กๆ เท่านั้น ไม่ค่อยมีการชกของนักชกหญิงออกโทรทัศน์ อีกครั้งยังมีค่าตัวต่ำ ขาดโอกาสในการพัฒนาในเส้นทางอาชีพ ทำให้นักชกหญิงพากันแขวนนวมตั้งแต่เริ่มชกได้ไม่นาน รายการมวยใหม่ๆ ได้ผลักดันมวยไทยในหมู่นักชกหญิง ซึ่งบังเอิญตรงกับความนิยมด้านการออกกำลังกายของผู้หญิงพอดี
อินเตอร์เน็ตทำให้มีการท่องเที่ยวเชิงกีฬาเกิดขึ้น ยิมมวยไทยเช่น ไทเกอร์มวยไทยและแฟร์เท็กซ์ได้เปิดโอกาสให้นักกีฬาทำการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ชาวต่างชาติเริ่มเข้าสู่ประเทศไทยเพื่อทำความรู้จักอย่างลึกซึ้งกับกีฬา วัฒนธรรมและการต่อสู้
โอกาสอื่นๆ ได้ผลักดันทั้งผู้หญิงและกีฬาให้ไปได้ไกลมากขึ้น หน่วยงานขนาดใหญ่เช่น IFMA หรือสหพันธ์มวยไทยนานาชาติ ผลักดันให้มีการแข่งขันมวยไทยระดับมือสมัครเล่นทั่วโลก นอกจากนี้สหพันธ์มวยไทยนานาชาติยังตั้งเป้านำศาสตร์การต่อสู้ทั้ง 8 แขนงเข้าสู่กีฬาโอลิมปิกด้วย
สภามวยโลกของมวยไทยซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ก่อตั้งในปีพ.ศ 2547 ก็ตั้งเป้าถึงการเติบโตนี้เช่นกัน ทางสมาพันธ์ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพการต่อสู้ แล้วจะทำการจัดโปรแกรมสำหรับเยาวชนภายในปีนี้ด้วย โดยผนึกกำลังกับองค์กรการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อทำการโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงกีฬา
มวยไทยได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจากการก่อตั้งหน่วยงานอย่าง ONE Championship ที่นักชกแชมป์มวยไทยได้รับค่าตัวสูงและได้รับเสียงตอบรับอย่างดีเยี่ยม
ปัจจุบันในประเทศไทย รายการมวยจะออกโทรทัศน์สัปดาห์ละ 4 วัน และรายการเล็กๆ ออกอากาศถี่มาก หลายประเทศทั่วโลกเองก็จัดโปรแกรมชกเป็นประจำ
นับว่าศิลปะการต่อสู้ได้พัฒนามาไกลจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ และกำลังกลายเป็นกีฬายอดนิยมแนวหน้าในอนาคต