รำไหว้ครูมวย
มวยไทยฝังรากลึกในขนบธรรมเนียม ประเพณี เกียรติและศักดิ์ศรี ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นได้ชัดเจนคือการไหว้ครู
การไหว้ในประเทศไทยเป็นการทักทายและแสดงความเคารพรูปแบบหนึ่ง การไหว้ครูจึงเป็นวิธีการแสดงความเคารพครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นที่ยกย่องอย่างมากในสังคมไทย แม้อาชีพครูจะได้ค่าจ้างไม่มากนัก แต่ก็เป็นวิชาชีพที่คนให้ความนับถือเชื่อฟัง
ในมวยไทย มีการแสดงความเคารพครูอาจารย์ผ่านการรำไหว้ครูมวย ซึ่งเป็นพิธีการรำเพื่อรำลึกถึงพระคุณครู ประเทศชาติ ศาสนา และคนที่นักชกรักเคารพ
พิธีไหว้ครู
นักมวยเริ่มพิธีเมื่อก้าวเท้าเข้าสู่สังเวียน เมื่อถอดเสื้อคลุมก็จะเริ่มรำมวยจากมุมของตนเอง ก่อนเดินรอบเวที ใช้มือจับที่เชือกเส้นบนสุดที่ขึงรอบเวที และโน้มตัวร่ายคาถาสั้นๆ เมื่อถึงแต่ละมุมจนครบทุกด้าน พิธีนี้มีความเชื่อว่าสามารถช่วยปกป้องคุ้มครองไม่ให้วิญญาณร้ายเข้าสู่สังเวียนได้ และยังช่วยให้นักมวยตรวจตราผ้าใบทั้งหมดก่อนชก เผื่อในกรณีที่เวทีเปียก มีตะปุ่มตะป่ำ เป็นต้น
เมื่อเดินรอบสังเวียนเรียบร้อยแล้ว นักมวยจะเริ่มรำไหว้ครู ซึ่งมีท่ารำหลากหลายตามที่เขียนอธิบายไว้ด้านล่างของบทความนี้ โดยทั่วไปแล้วทางค่ายมวยจะเป็นผู้สอนการไหว้ครู ซึ่งแต่ละค่ายจะมีท่าที่ต่างกันออกไป เชื่อกันว่าความสามารถในการรำไหว้ครูของนักชกนี้สัมพันธ์กับความสามารถในการต่อสู้ด้วย
การรำมวยเริ่มก่อรูปเป็นมาตรฐานขึ้นตามกาลเวลา นักมวยจะเริ่มทำการรำมวยด้วยการวนเป็นวงกลมเล็กๆ 3 วงเข้าหาศูนย์กลางเวที ซึ่งระหว่างที่วนนั้นเป็นการทำสมาธิถึงบุคคลอันเป็นที่รัก ค่ายมวย ครูมวย และเหตุผลที่อยู่บนเวทีครั้งนี้ จากนั้นจะคุกเข่าก้มลงกราบเวลาโดยวางมือลงทีละข้างและยกมือขึ้นทีละข้าง ก่อนเงยตัวขึ้น โค้งตัวนำมือทั้งสองจรดหน้าผากตัวทำเช่นนี้จนครบทั้งสี่ทิศ
เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว นักชกจะลุกขึ้นยืนและเคลื่อนตัวไปยังจุดกึ่งกลางของเชือก ทำทั้งสามขั้นตอนซ้ำอีกครั้ง ยกขาข้างหนึ่งขึ้นแล้วก้าวไปข้างหน้าพร้อมกับขยับแขน แล้วจึงดำเนินการขั้นตอนต่อไป เมื่อถึงเชือกแล้วนักมวยจะหมุนแขนเข้าหากันแล้วกวาดกลับเดินเข้าหาตรงกลาง
เมื่อเดินครบทั้งสี่ทิศแล้ว นักมวยจะกลับเข้าสู่จุดกึ่งกลางของเวทีก่อนเดินกลับมุมของตนเอง
ที่มุมมีพี่เลี้ยงหรือหัวหน้าค่ายมวย หรือผู้มีอำนาจในท้องถิ่นนั้นประจำอยู่ ซึ่งบุคคลนั้นจะเป็นผู้ถอดมงคลออกให้ ซึ่งมงคลคือเครื่องสวมศีรษะเพื่อความเป็นสิริมงคลของนักชก
ซึ่งนักมวยจะได้รับเครื่องสวมศีรษะชิ้นนี้จากทางค่ายมวยหรือครูของตนเอง ส่วนมากจะมีการนำมงคลไปรับสิริมงคลที่วัด มีการตกแต่งมงคลด้วยพระเครื่อง เศษผ้าหรือของที่มีคุณค่าทางจิตใจอื่นๆ วัฒนธรรมไทยถือกันมากเรื่องศีรษะคือของสูง จึงถือกันว่ามงคลที่ใช้สวมศีรษะนั้นห้ามวางบนพื้นเด็ดขาด ที่มุมแดงและมุมน้ำเงินจะมีการสวดเป่าคาถาพร้อมอวยพรให้กับนักชก เมื่อถอดมงคลเสร็จแล้วจะมีการใส่ฟันยางให้กับนักชก เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีไหว้ครูอาจใช้เวลาหลายนาทีและมีดนตรีประกอบ โดยจะใช้วงปี่มวยซึ่งมีเครื่องดนตรี 3 ชิ้นได้แก่ ปีชวา 1 เลา, กลองแขก 1 คู่, และฉิ่ง 1 คู่ ระหว่างไหว้ครูจะเล่นเพลงมวยจังหวะช้าเพื่อให้นักมวยมีเวลาในการอุ่นเครื่อง แต่เมื่อเริ่มการชกกระชังดังแล้วนักดนตรีจะเพิ่มจังหวะให้รวดเร็วขึ้นเพื่อสร้างความฮึกเหิมแก่นักกีฬาและผู้ชม โดยวงปี่มวยนี้จะเล่นตั้งแต่ในเวทีเล็กๆไปจนถึงเวทีใหญ่ นักดนตรีปี่มวยที่เวทีราชดำเนินจะนั่งติดกับต้นไม้สีทองซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสนามมวยและพื้นที่แถบนั้น
ความหลากหลายของการรำไหว้ครูมวย
มีการไหว้ครูหลายประเภท ซึ่งมีอยู่ไม่กี่ประเภทที่ใช้กันทั่วไป นักชกสาวสองอย่างน้องตุ้มจะรำมวยโดยใช้ท่าแต่งหน้า หลังจากถ้าคุกเข่ารำมวย น้องตุ้มจะทำถ้าเปิดฝ่ามือและตบแป้ง เป็นท่าเลียนตนเองในกระจก เพื่อเช็กความสวยของตนเอง การรำไหว้ครูมวยด้วยท่าแต่งหน้าแบบนี้มีการนำไปใช้ในนักชกหญิงหลายๆ คนด้วย
เวอร์ชั่นของบัวขาว บัญชาเมฆนักชกชื่อดังจะมีท่าถือคันศรยิงธนูใส่ศัตรู เมื่อใกล้จะรำมวยจบ บัวขาวจะทำท่าดึงคันศร ยกขาด้านหน้าขึ้นและกระทืบเท้าลงพร้อมส่งเสียงตะโกน บัวขาวจะทำท่าดูว่ายิงตรงเป้าหรือไม่ โดยจะยิงทั้งหมดสามลูก สองลูกแรกจะยิงไม่ถูก ส่วนลูกที่สามบัวขาวยิงแล้วจะพยักหน้า เพื่อสื่อว่ายิงถูกเป้าหมายแล้ว นักมวยฉลาดๆ หลายคนจะแกล้งทำเป็นหลบลูกศรนี้หรือจับลูกศรด้วยมือเปล่าแล้วใช้ขาหักลกศรนั้นทิ้ง
นักชกชาวตะวันตกอย่างจอห์น เวย์น พาร์ ก็มีท่าไหว้ครูคล้ายกับบัวขาว โดยจะแกล้งทำเป็นยิงธนูใส่ศัตรูไม่ตรง 2 ครั้งและควักปืนจากซองที่เอวมายิงแทน ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการหยอกล้อชื่อจอห์น เวย์นของเขาเอง ซึ่งเป็นชื่อนักแสดงผู้โด่งดังในภาพยนตร์แนวคาวบอย
นักกีฬาท่านอื่นๆอย่างยอดดอย แก้วสัมฤทธิ์จะรำไหว้ครูมวยด้วยท่าจับกบ เริ่มด้วยโยนแหบนสังเวียนและกระโดดเลียนแบบทำท่าจับกบ ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคอีสานมักจะจับกบกินกันเป็นประจำ ซึ่งนักมวยหลายๆ คนก็มีถิ่นกำเนิดมาจากภาคอีสานนี่เอง
นำศักดิ์น้อย ยุทธการกำธร แชมป์เวทีลุมพินี มีท่าไหว้ครูที่เป็นที่รู้จัก นำศักดิ์น้อยเคยร่วมค่ายกับบัวขาว และเคยได้รับรางวัลไหว้ครูดีเด่นถึง 2 ครั้ง จากการกีฬาแห่งประเทศไทยในปี 2544 และ 2549 โดยการรำมวยของนำศักดิ์น้อยอาจใช้เวลามากถึง 15 นาที
การรำมวยไหว้ครูในยุคใหม่
เวลาเปลี่ยนไป ธรรมเนียมต่างๆก็เปลี่ยนตาม การชกมวยหลายครั้งไม่มีการรำมวยไหว้ครูอีกแล้วเนื่องจากใช้เวลามากเกินไป อย่างเช่นรายการแม็กซ์มวยไทย หรือซูเปอร์แชมป์ รายการมวยเพื่อความบันเทิงเหล่านี้ให้นักมวยเดินรอบสังเวียนและเริ่มชกได้เลย ส่วนรายการอื่นอย่าง วันแชมเปี้ยนชิปจะตัดทั้งกระบวนการไหว้ครูออกไปหมด รวมถึงดนตรีไทยเดิมด้วย
นักมวยหลายคนจะเดินตามรันเวย์โดยสวมมงคลเพื่อแสดงความเคารพนับถือต่อกีฬาและครูฝึก บางรายการเช่นไทยไฟต์ ยังให้มีการรำมวยอยู่ โดยรายการนี้จะเน้นที่กลุ่มผู้ชมชาวไทยเป็นหลักและมองว่าการรำมวยไหว้ครูเป็นเรื่องของวัฒนธรรมที่ยังต้องมีการปฏิบัติสืบทอดกันอยู่
การรำไหว้ครูมวยยังมีอยู่ในปัจจุบัน และมีการสอนให้แก่นักกีฬาทั้งเด็กและผู้ใหญ่ เมื่อไม่นานมานี้สภามวยโลกในสหรัฐอเมริกาได้มีการจัดอบรมให้นักกีฬาเด็กรู้จักเรียนรำไหว้ครูมวยด้วย สนามมวยหลายแห่งเช่นอ้อมน้อยและราชดำเนินก็ยังคงรักษาธรรมเนียมนี้เอาไว้